ร่วมมือกันสร้างเสริมสุขภาพกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีอีกน๊าน........นาน

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

จนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่ยาที่ใช้รักษาไข้เลือดออก หรือวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยป้องกันการแพร่ของยุง เท่าที่ผ่านมาการควบคุมยังได้ผลไม่ดี เนื่องจากเน้นเรื่องการทำลายยุงซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณ และการควบคุมยุงต้องทำเป็นบริเวณกว้าง การควบคุมที่จะให้ผลยั่งยืน ควรจะเน้นที่การควบคุมลูกน้ำ การควบคุมสามารถร่วมหน่วยงานราชการอื่น องค์กรเอกชน ท้องถิ่น ดังนั้นการควบคุมที่ดีต้องบูรณาการเอาหน่วยงานที่มีอยู่ 


และวิธีการต่างๆทั้งนี้การป้องกันทำได้ 3 ลักษณะ คือ
1. การป้องกันทางกายภาพ ได้แก่
  • - ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิด เช่น มีผาปิดปากโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือถ้าไม่มีฝาปิด ก็วางคว่ำลงหากยังไม่ต้องการใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่วางไข่ของยุงลาย
  • - เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สดบ่อยๆ อย่างน้อยทุกๆ 7 วัน
  • - ปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม ภาชนะละ 2-4 ตัว รวมถึงอ่างบัวและตู้ปลาก็ควรมีปลากินลูกน้ำเพื่อคอยควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายเช่นกัน
  • - ใส่เกลือลงน้ำในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใส่เกลือ 2 ช้อนชา ต่อความจุ 250 มิลลิลิตร พบว่าสามารถควบคุมลูกน้ำได้นานกว่า 7 วัน
2. การป้องกันทางเคมี ได้แก่
  • - เติมทรายทีมีฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้และรับรองความปลอดภัย เหมาะสมกับภาชนะที่ไม่สามารถใส่ปลากินลูกน้ำได้
  • - การพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีข้อดีคือ ประสิทธิภาพสูง แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพง และเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดพ่นและฉีดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง ควรเลือกฉีดในเวลาที่มีคนอยู่น้อยที่สุดและฉีดพ่นลงในแหล่งที่คาดว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ท่อระบายน้ำ กระถางต้นไม้ เป็นต้น
  • - การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงในบ้านเรือน ที่ใช้กันมี 2 ชนิด คือ ยาจุดกันยุง และสเปรย์ฉีดไล่ยุง โดยสารออกฤทธิ์อาจเป็นยาในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids), ดีท (DEET, diethyltoluamide) เป็นต้น เมื่อก่อนมียาฆ่ายุงด้วย มีชื่อว่า ดีดีที แต่สารนี้ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้วเนื่องจากเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก อย่างไรก็ตาม สารเคมีไม่ว่าจากยาจุดกันยุงหรือสเปรย์ฉีดไล่ยุง ก็มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ ดังนั้นเพื่อลดความเป็นพิษดังกล่าวควรจุดยากันยุงในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัส ส่วนยาฉีดไล่ยุงจะมีความเป็นพิษมากกว่า ดังนั้นห้ามฉีดลงบนผิวหนัง และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด
3. การปฏิบัติตัว ได้แก่
  • - นอนในมุ้ง หรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยจะต้องปฏิบัติเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน
  • - หากไม่สามารถนอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดได้ ควรใช้ยากันยุงชนิดทาผิวซึ่งมีสารสำคัญที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม (oil of citronella), น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of eucalyptus) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่ามาทาหรือหยดใส่ผิวหนังใช้เป็นยากันยุง แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่า DEET